บทความ

มาตรฐานการเดินสายไฟในราง มีอะไรบ้าง พร้อมข้อกำหนดที่คุณต้องรู้!

มาตรฐานการเดินสายไฟในราง มีอะไรบ้าง

การติดตั้งระบบไฟฟ้าภายในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักอาศัย อาคารสำนักงานหรือโรงงานอุตสาหกรรม ความปลอดภัยถือเป็นหัวใจสำคัญสูงสุด ดังนั้นการเดินสายไฟอย่างถูกวิธีตามมาตรฐานการเดินสายไฟในราง จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจมองข้าม เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากไฟฟ้าลัดวงจรหรือปัญหาอื่น ๆ ไม่เพียงแต่ช่วยให้ระบบไฟฟ้าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานนั่นเอง ในบทความนี้จะพาคุณไปทำความดูว่า มาตรฐานการเดินรางสายไฟที่คุณควรปฏิบัติตาม มีอะไรบ้าง 

ข้อกำหนดของการเดินสายไฟทั่วไป  

ก่อนจะลงลึกถึงมาตรฐานการเดินสายไฟในราง สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจข้อกำหนดพื้นฐานของการเดินรางสายไฟ ซึ่งเป็นหลักการทั่วไปที่ช่วยสร้างความปลอดภัยเบื้องต้นในการติดตั้งระบบไฟฟ้า ดังนี้ 

การแยกระบบแรงดัน 

เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการรบกวนสัญญาณ ไม่ควรติดตั้งสายไฟสำหรับระบบแรงดันต่ำ (Low Voltage) รวมกับสายไฟระบบแรงดันสูง (High Voltage) ในช่องเดินสายหรือท่อร้อยสายไฟเดียวกัน เว้นแต่จะอยู่ในตู้ควบคุม (แผงสวิตช์) หรือเปลือกห่อหุ้มที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับการเดินสายเท่านั้น

การติดตั้งไฟฟ้ากระแส AC และ DC 

สามารถติดตั้งสายไฟกระแสสลับ (AC) และกระแสตรง (DC) ร่วมกันได้ หากฉนวนหุ้มสายไฟของทุกเส้นมีความสามารถในการทนแรงดันไฟฟ้าได้เท่ากับหรือสูงกว่าค่าแรงดันสูงสุดที่ใช้งานในระบบนั้น ๆ

การเดินสายผ่านโครงสร้างไม้ 

เมื่อต้องเจาะรูผ่านโครงสร้างที่เป็นไม้เพื่อร้อยสายไฟ ต้องแน่ใจว่ารูนั้นอยู่ห่างจากขอบของโครงสร้างไม้อย่างน้อย 30 มิลลิเมตร เพื่อป้องกันความเสียหายต่อสายไฟหากมีการตอกตะปูหรือเจาะในบริเวณใกล้เคียง

การติดตั้งสายเคเบิลแกนเดียวชนิดมีเปลือกนอก 

กรณีใช้สายเคเบิลแกนเดียวที่มีเปลือกนอก (Sheathed Single-Core Cable) ในการเดินสาย ขนาดของสายต้องไม่เล็กกว่า 25 ตารางมิลลิเมตร เพื่อให้แน่ใจว่าฉนวนและเปลือกนอกมีความหนาเพียงพอที่จะป้องกันความเสียหายทางกายภาพที่อาจเกิดขึ้นได้ 

การติดตั้งบนรางเคเบิล (Cable Tray) 

สายดินทุกขนาด รวมถึงสายเคเบิลหลายแกนสำหรับระบบควบคุมและสัญญาณ และท่อร้อยสายไฟที่ทำจากโลหะ สามารถติดตั้งวางบนรางเคเบิลได้ 

การติดตั้งท่อร้อยสายไฟชนิดอโลหะบนรางเคเบิล 

หากต้องการติดตั้งท่อร้อยสายไฟชนิดที่ไม่ใช่โลหะ เช่น ท่อ PVC หรือท่อพลาสติกอื่น ๆ บนรางเคเบิล ท่อนั้นจะต้องมีคุณสมบัติในการต้านทานเปลวไฟหรือหน่วงไฟ (Flame retardant) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในกรณีเกิดอัคคีภัย  

Cable Tray

ข้อกำหนดในการติดตั้งการเดินสายไฟในราง มีอะไรบ้าง  

เพื่อให้การติดตั้งสายไฟในรางเป็นไปอย่างปลอดภัย ได้มาตรฐานและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การติดตั้งการเดินสายไฟในรางก็มีข้อกำหนดที่สำคัญ ดังนี้ 

  • ความต่อเนื่องทางกลและไฟฟ้า รางเคเบิลต้องติดตั้งให้มีความต่อเนื่องกันตลอดแนว ทั้งในเชิงกล (ยึดติดกันอย่างมั่นคง) และทางไฟฟ้า (หากใช้รางโลหะเป็นส่วนหนึ่งของระบบสายดิน ต้องมั่นใจว่าต่อเนื่องถึงกัน)
  • การจับยึดที่มั่นคง ต้องมีการจับยึดรางและสายไฟอย่างมั่นคง แข็งแรง เพื่อป้องกันการเคลื่อนที่หรือความเสียหาย
  • พื้นที่ติดตั้งที่เข้าถึงได้ ควรติดตั้งรางในบริเวณที่เปิดเผย สามารถเข้าถึงเพื่อตรวจสอบ บำรุงรักษา หรือแก้ไขได้สะดวก
  • แยกสายต่างระบบแรงดัน หากจำเป็นต้องติดตั้งสายไฟระบบแรงดันต่ำและสายไฟระบบแรงดันสูงในรางเดียวกัน จะต้องมีแผ่นกั้น (Barrier) ที่ทำจากวัสดุที่แข็งแรง ทนไฟหรือไม่ติดไฟ แยกส่วนของสายทั้งสองระบบออกจากกันอย่างชัดเจน
  • ตำแหน่งจุดต่อสาย จุดต่อสายไฟ (Splice) ต้องทำอยู่ภายในรางเท่านั้นและความสูงของจุดต่อรวมถึงฉนวนหุ้ม ต้องไม่สูงเกินขอบด้านข้างของราง
  • การจับยึดสายเมื่อออกจากราง เมื่อมีการเดินสายไฟแยกออกจากรางเพื่อเข้าช่องร้อยสาย (Conduit) หรืออุปกรณ์อื่น จะต้องมีการจับยึดสายไฟ ณ จุดที่ออกจากรางให้มั่นคง
  • ห้ามติดตั้งอุปกรณ์หรือระบบอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเดินสายไฟฟ้า เช่น ท่อประปา ท่อลม ท่อแก๊ส เข้าไปในรางเดินสายไฟหรือบนตัวราง
  • ป้องกันไฟลุกลาม ในกรณีที่รางเดินสายไฟมีการเดินทะลุผ่านผนัง พื้น หรือเพดาน ต้องมีการใช้วัสดุปิดช่องว่าง (Fire Stopping) ที่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟไหม้
  • เลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม เลือกใช้อุปกรณ์รางและส่วนประกอบต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในการติดตั้ง ประเภทและจำนวนของสายไฟ รวมถึงมีการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับสายไฟอย่างเหมาะสม

การติดตั้งการเดินสายไฟในราง

สรุปบทความ 

การติดตั้งระบบไฟฟ้าอย่างถูกต้องตามมาตรฐานการเดินสายไฟในราง ไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับความปลอดภัย แต่ยังเสริมให้ระบบไฟฟ้าทำงานได้เต็มประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ไฟฟ้าในระยะยาว ตั้งแต่การแยกระบบแรงดัน การติดตั้งบนรางเคเบิลไปจนถึงข้อกำหนดเรื่องการป้องกันไฟลุกลาม ล้วนเป็นสิ่งที่ช่างไฟหรือผู้รับเหมาควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ถึงแม้จะเดินสายไฟตามมาตรฐานที่กำหนด แต่ถ้าไม่มีอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐานก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน 

Leetech พร้อมสนับสนุนทุกงานติดตั้งระบบไฟฟ้า ด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้าพลาสติกคุณภาพสูง ทั้งท่อร้อยสายไฟและรางเดินสายไฟหลากหลายประเภทที่ผลิตตามมาตรฐานสากล เพื่อให้คุณมั่นใจในทุกการใช้งาน และช่วยให้การติดตั้งระบบไฟฟ้าของคุณเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย