บทความ

ท่อร้อยสายไฟ คืออะไร มีกี่ชนิด พร้อมข้อดีและข้อเสียก่อนติดตั้งงานเดินท่อร้อยสายไฟ

ท่อร้อยสายไฟ คืออะไร

การติดตั้งระบบไฟฟ้าที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานนั้น งานเดินท่อร้อยสายไฟก็ถือเป็นขั้นตอนสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจรแล้ว ยังช่วยยืดอายุการใช้งานของสายไฟและอำนวยความสะดวกในการซ่อมบำรุงในอนาคต ในบทความนี้ Leetech จะพาคุณไปทำความรู้จักกับท่อร้อยสายไฟ คืออะไร มีกี่ชนิด ท่อแต่ละสีที่เราเห็นกันบ่อย ๆ แตกต่างกันอย่าง รวมถึงข้อควรพิจารณาก่อนเริ่มเดินท่อสายไฟ ในบ้านหรืออาคารของคุณกัน   

ท่อร้อยสายไฟ คืออะไร 

ท่อร้อยสายไฟ (Electrical Conduit) คืออุปกรณ์ที่ใช้สำหรับห่อหุ้มและป้องกันสายไฟฟ้าจากสภาพแวดล้อมภายนอก เช่น ความชื้น ความร้อน การกระแทกหรือการกัดแทะจากสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งการเดินไฟร้อยท่อเป็นวิธีที่ได้มาตรฐานและถูกกำหนดโดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานระบบไฟฟ้า นอกจากนี้ ท่อร้อยสายไฟยังช่วยจัดระเบียบการเดินสายไฟให้เป็นระบบ ง่ายต่อการบำรุงรักษาและสวยงามกว่าการเดินสายไฟแบบเปลือยอีกด้วย  

ท่อร้อยสายไฟ มีกี่ชนิด 

โดยทั่วไปแล้ว ท่อร้อยสายไฟสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักตามวัสดุที่ใช้ผลิต ได้แก่ โลหะและพลาสติก ซึ่งแต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติและความเหมาะสมในการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้ 

1. ท่อพลาสติก 

ท่อพลาสติกที่ใช้ในงานเดินท่อสายไฟ ส่วนใหญ่ผลิตจาก PVC (Polyvinyl Chloride) หรือ PE (Polyethylene) ซึ่งมีคุณสมบัติ เป็นฉนวนไฟฟ้า น้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย ท่อประเภทนี้นิยมใช้ในงานติดตั้งไฟฟ้าในบ้านพักอาศัย อาคารสำนักงาน หรือพื้นที่ที่ไม่มีความเสี่ยงจากอันตรายทางกายภาพมากนัก ข้อควรระวังคือท่อพลาสติกไม่ทนต่อความร้อนสูงและแรงกระแทกรุนแรง  

ท่อโลหะ

2.1 ท่อพลาสติก PVC 

ท่อ PVC ผลิตจาก Polyvinyl chloride เป็นท่อพลาสติกใช้ในการเดินร้อยสายไฟอย่างแพร่หลาย มีคุณสมบัติเด่นเป็นฉนวนไฟฟ้า คงรูปดีทำให้สะดวกในการยึดเกาะติดตั้งแบบฝังผนังหรือแบบลอยบนผนังได้และไม่ลามไฟซึ่งเป็นลักษณะเด่นกว่าท่อพลาสติกชนิดอื่น อีกทั้งท่อ PVC มีผิวเงางามสวยงามกว่าพลาสติกอื่นและมีราคาประหยัด 

2.2 ท่อพลาสติก HDPE (High Density Polyethylene) 

ท่อ HDPE หรือที่มักเรียกว่าท่อ PE เป็นท่อพลาสติกชนิดที่มีความหนาแน่นสูง มีคุณสมบัติเด่น คือความแข็งแรง ทนทานต่อแรงกระแทกและแรงกดทับได้ดีกว่าท่อ PVC นอกจากนี้ยังมีความยืดหยุ่นสูง ทนทานต่อสารเคมี และทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดีเยี่ยม โดยเฉพาะแสงแดด (UV) จึงนิยมใช้สำหรับงานเดินสายไฟภายนอกอาคาร งานฝังดิน หรือในพื้นที่ที่ต้องการความทนทานเป็นพิเศษ เช่น งานร้อยสายไฟฟ้าใต้ดิน งานร้อยสายเคเบิลสื่อสาร ท่อ HDPE มักมีสีดำ และมีความยืดหยุ่นช่วยให้การติดตั้งในพื้นที่โค้งงอทำได้ง่ายขึ้น 

2.3 ท่อพลาสติก EFLEX (Flexible Conduit) 

ท่อ FLEX หรือท่ออ่อนลูกฟูก เป็นท่อพลาสติกที่มีลักษณะเป็นลอนคลื่น ทำให้มีความยืดหยุ่นสูง สามารถดัดโค้งงอได้ตามต้องการ ผลิตจากวัสดุหลากหลาย เช่น PVC (Polyvinyl Chloride) หรือ PA (Polyamide) ท่อชนิดนี้นิยมใช้ในงานที่ต้องการความคล่องตัวในการเดินสายไฟ เช่น การเดินสายไฟเข้าเครื่องจักร การเดินสายไฟในพื้นที่แคบหรือซับซ้อน หรือบริเวณที่มีการสั่นสะเทือน ท่อ FLEX ช่วยป้องกันสายไฟจากความเสียหายทางกายภาพและความชื้นได้ในระดับหนึ่ง และติดตั้งได้ง่ายกว่าท่อชนิดแข็งในบางสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการป้องกันแรงกระแทกอาจน้อยกว่าท่อชนิดแข็ง และอาจมีข้อจำกัดในการใช้งานตามมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้า   

2. ท่อโลหะ 

ท่อร้อยสายไฟแบบโลหะมักผลิตจากเหล็กชุบสังกะสี (Galvanized Steel) หรืออะลูมิเนียม ซึ่งมีความแข็งแรง ทนต่อแรงกระแทกและความร้อนสูง จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับพื้นที่ที่ต้องการมาตรฐานความปลอดภัยสูง เช่น โรงงานอุตสาหกรรม อาคารสูง หรือจุดที่มีความเสี่ยงในการเกิดเพลิงไหม้ ท่อโลหะมีหลากหลายประเภท โดยแต่ละแบบจะเหมาะกับการใช้งานที่แตกต่างกันตามระดับความแข็งแรง น้ำหนักและสภาพแวดล้อมของพื้นที่ติดตั้ง ดังนี้    

ท่อพลาสติก

1.1 ท่อโลหะขนาดบาง (Electrical Metallic Tubing) 

ท่อโลหะขนาดบาง (EMT) เป็นท่อที่มีผนังบางที่สุดในบรรดาท่อโลหะทั้งหมด มีน้ำหนักเบาและติดตั้งได้ง่าย จึงเหมาะสำหรับงานติดตั้งภายในอาคารที่ไม่มีแรงกระแทกมาก เช่น เดินสายไฟบนผนังหรือฝ้าเพดาน ท่อ EMT ไม่สามารถทำเกลียวที่ปลายท่อได้ จึงต้องใช้ข้อต่อเฉพาะ เช่น แบบบีบอัด (Compression Fitting) หรือแบบขันสกรู (Set-Screw Fitting) อย่างไรก็ตาม ท่อชนิดนี้ไม่ควรนำไปใช้งานที่ต้องฝังในคอนกรีตหรือฝังดิน เนื่องจากไม่สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นหรือแรงกระแทกสูงได้ 

1.2 ท่อโลหะขนาดกลาง (Intermediate Conduit) 

ท่อโลหะขนาดกลางหรือท่อ IMC มีความหนากว่าท่อ EMT แต่บางกว่าท่อโลหะหนาพิเศษ (RSC) ทำให้มีความแข็งแรงทนทานมากกว่า สามารถทนต่อแรงกระแทกได้ดีขึ้น และสามารถทำเกลียวที่ปลายท่อได้เหมือนท่อ RSC ท่อ IMC มักใช้เป็นทางเลือกแทนท่อ RSC ในหลาย ๆ กรณี เนื่องจากมีน้ำหนักเบากว่า ติดตั้งง่ายกว่า และมีราคาถูกกว่า แต่ยังคงให้การป้องกันสายไฟที่ดี สามารถใช้งานได้ทั้งภายในและภายนอกอาคาร รวมถึงสามารถฝังในผนังคอนกรีตได้ 

1.3 ท่อโลหะหนาพิเศษ (Rigid Steel Conduit) 

ท่อโลหะหนาพิเศษ (RSC) เป็นท่อที่มีผนังหนาที่สุด มีความแข็งแรงทนทานสูงสุด สามารถป้องกันสายไฟฟ้าจากความเสียหายทางกายภาพได้ดีเยี่ยม ปลายท่อเป็นเกลียวเพื่อใช้ต่อกับข้อต่อเกลียวต่าง ๆ เหมาะสำหรับใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรมหนัก บริเวณที่อาจมีสารเคมีกัดกร่อนหรือพื้นที่อันตราย (Hazardous Locations) งานเดินสายไฟนอกอาคาร และหากมีการเคลือบป้องกันสนิมแล้วก็สามารถฝังดินได้โดยตรง 

1.4 ท่อโลหะอ่อน (Flexible Metal Conduit) 

ท่อโลหะอ่อน หรือท่อเฟล็กซ์ (Flex) มีลักษณะเป็นโลหะที่ขดเป็นเกลียวต่อเนื่อง ทำให้มีความยืดหยุ่นสูง สามารถโค้งงอได้ง่าย เหมาะสำหรับใช้งานในบริเวณที่ต้องการความยืดหยุ่นในการเดินสาย เช่น งานเดินสายไฟเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีการสั่นสะเทือน เช่น มอเตอร์ งานเดินสายในพื้นที่แคบหรือซับซ้อนที่ยากต่อการดัดท่อแข็ง หรืองานเดินสายเข้าโคมไฟฝังฝ้า 

1.5 ท่อโลหะชนิดอ่อนกันน้ำ (Raintight Flexible Metal Conduit)

ท่อโลหะชนิดอ่อนกันน้ำ มีลักษณะคล้ายกับท่อ FMC แต่มีเปลือกนอกหุ้มด้วยวัสดุกันน้ำ ส่วนใหญ่มักผลิตมาจาก PVC ทำให้สามารถป้องกันของเหลว ความชื้นและฝุ่นละอองได้ เหมาะสำหรับใช้งานในพื้นที่เปียกชื้น พื้นที่ภายนอกอาคารหรือบริเวณที่อาจสัมผัสกับน้ำมันและสารเคมีบางชนิด 

ท่อร้อยสายไฟสีขาวและสีเหลือง ต่างกันอย่างไร 

ท่อร้อยสายไฟ PVC ที่นิยมใช้กันทั่วไปมี 2 สีหลัก ได้แก่ สีขาวและสีเหลืองนั้น มีคุณสมบัติแตกต่างกันตามมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ซึ่งแบ่งเป็น 2 มาตรฐานหลักที่ใช้อย่างแพร่หลาย ได้แก่ 

  • ท่อร้อยสายไฟตามมาตรฐาน มอก. 216-2524 หรือท่อร้อยสายไฟชนิดหุน เป็นการผลิตท่อตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก.216-2524 ผลิตจากพลาสติก uPVC (Unplasticized Polyvinyl Chloride) จะเรียกขนาดเป็นระบบอังกฤษ (นิ้ว หรือ หุน) ท่อที่ผลิตตามมาตรฐานนี้ จะมีความหนามากกกว่ามาตรฐาน IEC ทำให้ท่อมีความแข็งแรงสามารถติดตั้งได้ทั้งฝังในผนังหรือพื้นคอนกรีตหรือฝ้าเพดาน หรือยังสามารถติดตั้งลอยบนพื้นผิวผนังหรือเพดานได้ เนื่องจากมาตรฐาน มอก.216-2524 กำหนดให้ท่อที่จะอ้างอิงมาตรฐานนี้ ต้องเป็นท่อสีเหลืองเท่านั้น แต่เพื่อความสวยงามในการติดตั้งจึงมีการผลิตเป็นท่อสีขาวและท่อสีดำ ชนิดหุน โดยมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับท่อสีเหลือง 
  • ท่อร้อยสายไฟตามมาตรฐาน IEC 61386-21 หรือท่อร้อยสายไฟ ชนิดมิล เป็นการผลิตท่อตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม IEC 61386-21 ผลิตพลาสติก uPVC (Unplasticized Polyvinyl Chloride) จะเรียกขนาดเป็นระบบเมตริก (มิลลิเมตร) ท่อมีความหนาน้อยกว่ามาตรฐาน มอก. สามารถดัดโค้งงอได้ถึง 90 องศา ทำให้สะดวกในการติดตั้ง ท่อชนิดนี้นิยมนำไปใช้ในงานเดินสายไฟแบบติดตั้งลอยบนพื้นผิว หรือวางบนฝ้าเพดาน ทั้งนี้ท่อตามมาตรฐานนี้ จะนิยมผลิตเป็นสีขาสและสีดำ เพื่อความเหมาะสมกับพื้นที่ติดตั้ง

ท่อร้อยสายไฟสีขาว สีเหลืองหรือสีดำ ในมาตรฐานเดียวกันจะมีคุณสมบัติเหมือนกัน สามารถเลือกใช้ท่อสีต่าง ๆ โดยพิจารณาจากปัจจัย เช่น ลักษณะการติดตั้ง ความเหมาะสมของพื้นที่สิ่งแวดล้อม หรือสไตล์การตกแต่งของอาคารเป็นหลัก  

ข้อดีของการใช้ท่อร้อยสายไฟ 

  • เพิ่มความปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากไฟฟ้าลัดวงจรและเพลิงไหม้
  • ป้องกันสายไฟจากความชื้น ความร้อนและการกัดแทะจากสัตว์
  • ยืดอายุการใช้งานของสายไฟ ลดความจำเป็นในการเปลี่ยนสายไฟบ่อย ๆ
  • ช่วยจัดระเบียบสายไฟ ทำให้ดูเป็นระเบียบและสวยงาม
  • สะดวกในการซ่อมบำรุงและเปลี่ยนสายไฟในอนาคต โดยไม่ต้องทุบผนังหรือรื้อพื้น
  • เป็นไปตามมาตรฐานการติดตั้งไฟฟ้าที่ปลอดภัย
  • ช่วยในการแยกประเภทสายไฟให้มีระเบียบมากยิ่งขึ้น 

ข้อเสียของการใช้ท่อร้อยสายไฟ 

  • ต้นทุนในการติดตั้งสูงกว่าการเดินสายไฟแบบเปลือย 
  • ใช้พื้นที่ในการติดตั้งมากกว่า โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องเดินท่อภายนอก
  • การดัดท่อหรือเดินท่อผ่านมุมต่าง ๆ ทำได้ยากกว่า ต้องใช้อุปกรณ์เสริมเช่นข้องอ
  • หากออกแบบระบบไม่ดี อาจทำให้เกิดปัญหาในการดึงสายไฟผ่านท่อ
  • งานเดินท่อร้อยสายไฟ ต้องการช่างที่มีความชำนาญเฉพาะทาง 

ท่อร้อยสายไฟ ดีอย่างไร

สรุปบทความ 

ท่อร้อยสายไฟถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการติดตั้งระบบไฟฟ้าที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน ดังนั้นจึงควรเลือกประเภทท่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นท่อโลหะหรือท่อพลาสติก ท่อสีขาวหรือท่อสีเหลือง ล้วนส่งผลต่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการใช้งานระยะยาว แม้งานเดินท่อร้อยสายไฟ จะมีต้นทุนและความซับซ้อนมากกว่า แต่ข้อดีในด้านความปลอดภัยและความสะดวกในการบำรุงรักษาคุ้มค่ากับการลงทุน Leetech เป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบและผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าพลาสติกคุณภาพสูง พร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเลือกใช้ท่อร้อยสายไฟที่เหมาะสมกับโครงการของคุณ เพื่อให้งานระบบเดินท่อสายไฟเป็นไปอย่างปลอดภัย ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพสูงสุด